กิจกรรม Camp ต่างประเทศ จะเริ่มต้นอย่างไรดี
กรณีศึกษา Camp โครงการ MLP และ EP
ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีที่โรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทยได้เปิดสอนหลักสูตร MLP กันอย่างแพร่หลาย สืบเนื่องจาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2551 ระบุให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรที่สนองตอบต่อความต้องการของชุมชน สังคม และผู้เรียน นอกจากนั้นเมื่อได้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ยิ่งเพิ่มความจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน และ การทำงานมากขึ้น เพราะกฎบัตรอาเซียนกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทำงาน (Working Language) และยังมีภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนอกอาเซียนอีกหลายภาษาที่น่าสนใจ
ระบบการศึกษาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีหลักสูตร EP ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนทั้งของรัฐบาลและเอกชนได้เห็นความสำคัญด้านภาษาจึงมีการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับหลักสูตร MLP และ EP กันก่อนครับ
MLP. ย่อมาจาก Multi Language Program หรืออาจจะเรียกชื่อเป็น ภาษาไทยว่า หลักสูตรพหุภาษา โดยทั่วไปหลักสูตร MLP จะมีการสอนภาษา 3-4 ภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือ ภาษากัมพูชา เป็นต้น มีหลายสถานศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรในรูปแบบหลักสูตรห้องเรียนพิเศษสามภาษา Multi Language Program : MLP การศึกษาตามหลักสูตร MLP จึงเหมาะที่จะรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการค้าใน ASEAN และเป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถ ความถนัดทางด้านภาษา จะทำให้นักเรียนที่เรียนจบตามหลักสูตร MLP ได้นำทักษะความรู้ ประสบการณ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน รวมทั้งการเรียนในระดับที่สูงขึ้น สร้างโอกาสในการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไปด้วย
EP ย่อมาจาก English Program เป็นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ความสามารถและทักษะทางด้านภาษาของผู้เรียน หลักสูตร EP อาจเรียกได้ว่าโรงเรียนสองภาษา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบที่มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- English Program : EP จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้น ภาษาไทย และสังคมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฎหมายไทย ประเพณี และ วัฒนธรรมไทย
- Mini English Program : MEP สอนได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของชั่วโมงสอนทั้งหมดต่อสัปดาห์ โดยโรงเรียนสองภาษาจะมีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมปลายและมีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ค่าเล่าเรียนก็จะแตกต่างกันออกไป โดยหลักสูตรที่ใช้คือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2554 ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแกนและพัฒนาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับการสอนที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษเป็นสื่อในวิชาต่างๆตามที่โรงเรียนได้กำหนดยกเว้นวิชาภาษาไทย สำหรับครูผู้สอนในโครงการ English Program ดำเนินการสอนโดยครูชาวต่างประเทศหรือใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยมีครูชาวไทยที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสอน (Team Teaching) หรือดำเนินการสอนโดยครูไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษ
กิจกรรมเสริมประสบการณ์ในต่างประเทศ การเรียนภาษา และเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย หากจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน อาจมีขีดจำกัดในการจำลอง สถานการณ์ให้เสมือนจริง ดังนั้นการแก้ไขขีดจำกัดดังกล่าว ทางโรงเรียนจึงควรจัดโครงการค่าย (Camp) ต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ในต่างประเทศ สร้างโอกาสให้นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการใช้ภาษา เรียนรู้วัฒนธรรมจากกิจกรรมในห้องเรียนต่างประเทศ และการเดินทางในโครงการอีกทั้งการฝึกการมีระเบียบวินัยต่อตนเอง และผู้อื่น รวมทั้งการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกส่วนหนึ่งด้วย โครงการค่ายภาษาต่างประทศเป็นโครงการที่ได้รับความนิยมในการใช้เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ในต่างประเทศของผู้เรียนหลักสูตร MLP และ EP แต่น่าเสียดายที่สถานศึกษาจำนวนไม่น้อยยังขาดประสบการณ์ในการจัดกิจกรรม Camp ต่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน เช่นขาดกิจกรรมในห้องเรียนต่างประเทศ สถานที่เยี่ยมชมที่ไม่สอดคล้องกับการเสริมสร้างประสบการณ์เชิงวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ประวัติศาสตร์ มากพอ ในที่สุดก็เพียงแต่เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทั่วๆไปตามการเสนอของธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้ได้พักโรงแรมหรู กินอาหารแพงๆ เดิน Shopping สินค้า Brand name ย่านธุรกิจ แวะไปเยี่ยมโรงเรียนช่วงสั้นๆถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แล้วก็เดินทางกลับ
ตลอดระยะเวลาที่ผมได้แนะแนวการศึกษาต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี มักจะได้รับการสอบถามข้อมูลจาก ครู – อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษารวมไปถึงกลุ่มผู้ปกครอง ผู้ปกครองเครือข่ายอยู่เสมอ เกี่ยวกับการจัดโครงการเพื่อเสริมกิจกรรมในหลักสูตรหรือเติมเต็มประสบการณ์ในต่างประเทศให้กับนักเรียน ผมได้มีโอกาสเป็นผู้ดำเนินการโครงการค่ายภาษาต่างประเทศมาหลายครั้งโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาจึงขอแบ่งปันประสบการณ์ไว้เป็นกรณีศึกษาอาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับ ครู–อาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องที่มีความสนใจในการจัดโครงการดังกล่าว รายละเอียดดังนี้
1. การจัดทำและนำเสนอโครงการ
ด้วยภาระงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของครู – อาจารย์ ในยุคนี้มีมากมายในฐานะที่ผมเคยผ่านประสบการณ์มาก่อนย่อมทราบดี ดังนั้นการวางแผนจัดทำและนำเสนอโครงการให้สอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตรและนโยบายของโรงเรียน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาจึงเป็นสิ่งแรกที่ผมได้ดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับครู–อาจารย์ ให้มีเวลามากพอที่จะได้ทุ่มเทให้กับการสอน การอบรมดูแลนักเรียน อีกทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบพิจารณาที่สมบูรณ์มากขึ้น
รูปที่ 1 ตัวอย่างการนำเสนอโครงการ
2. การชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครองนักเรียน
เมื่อได้นำเสนอโครงการและปรับปรุงโดยการให้เหมาะสมและได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากทางโรงเรียนแล้ว มาถึงขั้นตอนที่ต้องชี้แจงและทำความเข้าใจแก่นักเรียน ผู้ปกครองเกี่ยวกับรายละเอียด และ กิจกรรมทางโครงการ
รูปที่ 2 ตัวอย่างประชุมชี้แจง
3. การปฐมนิเทศแก่นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการ
เมื่อการเตรียมการด้านต่าง ๆ รวมทั้งร่วมประชุมกับทางโรงเรียนมาตามลำดับแล้ว เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาในการเดินทาง จึงมีการปฐมนิเทศแก่นักเรียน ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นการซักซ้อมความเข้าใจ การเตรียมตัวและการปฏิบัติตัวของนักเรียนตลอดระยะเวลาของโครงการ
รูปที่ 3 การปฐมนิเทศ
4. กิจกรรมและประมวลภาพกิจกรรมของโครงการ
หลังจากมีการปฐมนิเทศก่อนการเดินทางเป็นที่เข้าใจร่วมกันตามที่กล่าวข้างต้นผู้เข้าร่วมโครงการเจอกัน ณ จุดนัดหมาย เพื่อเดินทางโดยพร้อมเพรียงกัน โดยมี ครู–อาจารย์ เจ้าหน้าที่ คอยอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย กิจกรรมของโครงการก็จะประกอบไปด้วยการเรียนในชั้นเรียน กิจกรรมกลุ่ม และศึกษาดูงานนอกสถานที่ เยี่ยมชมสถานที่ที่สำคัญ เรียนรู้วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่หลากหลาย การกล่าวความรู้สึก ความประทับใจ กล่าวขอบคุณ หรือกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับในการเข้าร่วมโครงการซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความกระตือรือร้นในการใช้ภาษาอังกฤษ และมีประสบการณ์ในการพูดภาษาอังกฤษในที่ชุมชน กิจกรรมการรับประกาศนียบัตร และ เดินทางกลับโดยสวัสดิ์ภาพ และมีความประทับใจ
รูปที่ 4 ผู้เข้าร่วมโครงการพร้อมกันที่จุดนัดหมาย
รูปที่ 5 กิจกรรมห้องเรียน
รูปที่ 6 กิจกรรมฟังบรรยายสรุปจากสถานที่เยี่ยมชม
รูปที่ 7 กิจกรรมเยี่ยมชม สถานที่ต่างๆในโครงการ
รูปที่ 8 กิจกรรมกลุ่ม มิตรภาพต่างแดน
กิจกรรมการเยี่ยมชมเป็นการยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ ยังมีอีกหลายสถานที่ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในโอกาสนี้
5. รับประกาศนียบัตร
เพื่อให้นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการมีความภาคภูมิใจและมีประกาศนียบัตร เพื่อใช้ประกอบการทำแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) เมื่อจบโครงการแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประกาศนียบัตรทุกคน
รูปที่ 9 การมอบประกาศนียบัตร
6. การประเมินผลการจัดโครงการ
เมื่อดำเนินการโครงการลุล่วงสำเร็จแล้ว ก็มีการประเมินผลเพื่อจะได้ทราบถึงผลการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป
รูปที่ 10 ผลการประเมินโครงการ
กิจกรรม Camp ต่างประเทศ จะมีประโยชน์ ในการให้ความรู้ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศในสถานการณ์จริง เข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย สร้างความประทับใจและทัศนคติที่ดีต่อผู้เข้าร่วมโครงการ ผ่านทางกิจกรรมของโครงการ หากสามารถบริหารจัดการให้มีกิจกรรมที่ครบถ้วน ทั้งกิจกรรมการเดินทาง การเยี่ยมชมสถานที่ที่เหมาะสม การได้เข้าห้องเรียน หรือร่วมชั้นเรียนกับนักเรียนต่างชาติ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้รับผิดชอบโครงการ ต้องให้ความสำคัญ ตั้งใจจริงในการจัดทำโครงการ การตั้งงบประมาณที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดคล้องกับคุณภาพ และ เป้าหมายของโครงการ จากประสบการณ์ในการจัดโครงการ Camp ต่างประเทศทุกครั้งที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณ ผู้บริหาร ครู–อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ที่มีความตั้งใจจริง ยึดถือประโยชน์ของนักเรียน ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นสำคัญ ทำให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี
ผู้เขียน
นายสมนึก ชูสุวรรณ
ค.อ.บ. พระจอมเกล้าลาดกระบัง
น.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วท.ม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
แหล่งข้อมูล :
http://salubsri.blogspot.com : การพัฒนาหลักสูตรห้องเรียนพิเศษสามภาษา (Multi Language Program-MLP)
http://www.manager.co.th : เลือกโรงเรียนมัธยมสองภาษาที่ไหนดี
http://www.poungkrams.ac.th :หลักสูตรพหุภาษา (MLP)
ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน :
- โครงการ MLP Special Camp 2012 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
- โครงการ English Camp in Penang 2014 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ณ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย
- โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ Singapore Science Camp 2015 , นักเรียนหลักสูตร EP ณ ประเทศสิงคโปร์
ขอขอบคุณ
- โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา
- KDU College Penang , Malaysia
- Shelton College International ,Singapore
- Baxter Institute, Australia