ภาษาอังกฤษของคนไทย กับ ความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งอาเซียน (ASEAN) ก็คือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) เป็นองค์กรความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาร์ โดยอาเซียนมีสำนักงานศูนย์กลางตั้งอยู่ที่ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีคำขวัญของอาเซียน (ASEAN Motto) คือ “ One Vision One Identity One Community “ หรือ “วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว” นั่นเอง
ภายใต้การก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีหลักสำคัญคือ ประชาคมการเมืองมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมวัฒนธรรม โดยเป้าหมายของ AEC คือ การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน และ การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ในการรวมตัวของ AEC มีการจัดทำกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เป็นเสมือนธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของอาเซียนที่จะนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนและเป็นธรรมนูญในการบริหารปกครองประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้ประชาคมอาเซียนมีสถานะเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีกฎหมายรองรับประชาคมในสถานะที่เป็นนิติบุคคล
ภาษาอังกฤษของคนไทยกับความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความเกี่ยวข้องและสำคัญอย่างไร
เนื่องจากในกฎบัตรอาเซียน หมวดที่ 10 เกี่ยวกับการบริหาร และขั้นตอนดำเนินงาน ข้อ 34 บัญญัติไว้ว่า ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียนคือภาษาอังกฤษ ( The working language of ASEAN shall be English) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสนใจยอมรับความจริงในเรื่องความสามารถ หรือทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารถึงกันของคนไทยเราที่จะต้องใช้ในการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะคนไทยทุกคนก็คือพลเมืองของอาเซียนนั่นเอง ดังนั้นการพัฒนาให้คนไทยมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจึงเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ต้องกระตุ้นเตือน ตอกย้ำ กระทำอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสในการเรียน การฝึกทักษะและใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้เป็นเรื่องปกติเพื่อ เตรียมรับเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
เพื่อให้เห็นภาพรวมของความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ขอยกตัวอย่างอ้างอิงผลสำรวจ และการจัดอันดับความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ดังนี้
1. ดัชนีความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ของประเทศในเอเชีย
ตารางที่ 1 แสดงดัชนีความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ของประเทศในเอเชีย
ที่มา: http://www.ef.co.th/epi/
จากข้อมูลตามตารางที่ 1 EF Education First ซึ่งเป็นสถาบันสอนภาษาชั้นนำระดับโลก ได้จัดทำดัชนีความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index : EF EPI) ของผู้ใหญ่ในประเทศต่างๆที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เป็นการสำรวจจากประชาชนกว่า 2 ล้านคนในปี 2554 จากจำนวน 44 ประเทศที่ทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษทางออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผลการสำรวจพบว่าประเทศในเอเชียโดยรวมคะแนนต่ำกว่าที่คาดเอาไว้และประเทศไทยเองอยู่ในอันดับ 42 จาก 44 ประเทศที่ EF Education First ได้ทำการสำรวจทั้งหมด ผลการสำรวจครั้งนี้จะเห็นได้ว่า ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เรายังต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 9 อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 34 และเวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 39
2. การสำรวจความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิตไทย
จากการสำรวจความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิตไทย ซึ่งศูนย์ทดสอบทางวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สุ่มตัวอย่างจากบัณฑิตที่ต้องการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลปรากฏว่าบัณฑิตกลุ่มวิทยาศาสตร์มีผลคะแนนการสอบภาษาอังกฤษเทียบเท่าคะแนน TOEFL ที่ระดับคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 450 คะแนน ในขณะที่กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เท่ากับ 444 คะแนน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มหลักสูตรนานาชาติ 489 คะแนน ดังนั้นจากข้อมูลระดับคะแนนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของบัณฑิตที่จบในประเทศไทยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้สำหรับการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ใช้คะแนน TOEFL ตั้งแต่ 550 ขึ้นไป ในขณะที่บัณฑิตจากประเทศสิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ มีค่าเฉลี่ยคะแนน TOEFL เกิน 550 คะแนน ส่วนบัณฑิตจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม และ กัมพูชา มีค่าเฉลี่ยคะแนน TOEFL เกิน 500 คะแนน
ตารางที่ 2 ระดับคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL ของบัณฑิตในอาเซียน
ที่มา : การสำรวจความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิตไทย, ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นที่น่าสังเกตว่าคนไทยเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา และมีโรงเรียนกวดวิชา สถาบันสอนภาษา โรงเรียนแบบโครงการ English Program : EP มหาวิทยาลัยนานาชาติ เปิดสอนในเมืองไทยจำนวนมาก แต่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างไร เราต้องยอมรับความจริง และรีบพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษโดยเร็ว การติดป้ายประชาสัมพันธ์ “เราพร้อมการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
ซึ่งมีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเราหลงประเด็นและขาดการยอมรับความจริง
ผู้เขียน
สมนึก ชูสุวรรณ
ค.อ.บ. พระจอมเกล้าลาดกระบัง
น.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วท.ม. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
แหล่งอ้างอิง
1. http://www.ef.co.th
2. http://www.enn.co.th
3. http://www.asean.org
4. http://services.nic.go.th