ระบบการศึกษาของประเทศมาเลเซีย
รัฐบาลของประเทศมาเลเซียต้องการพัฒนามาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาในภูมิภาคนี้โดยมีการวางแผนพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผลของการพัฒนาเห็นได้ชัดจากการที่มีนักเรียนต่างชาติเดินทางเข้ามาศึกษาที่ประเทศมาเลเซียสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ในปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาต่างชาติมากถึง 50,000 คนจากประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการศึกษาระดับนานาชาติที่มีคุณภาพ ประกอบกับหลักสูตรที่มีความหลากหลายเป็นที่ยอมรับ และมีราคาที่เหมาะสมด้วย
ระบบการบริหารการศึกษาของประเทศมาเลเซีย
ระบบการบริหารการศึกษาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการแบ่งระดับการบริหารเป็น 5 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับรัฐ ระดับอำเภอ ระดับกลุ่มโรงเรียน และระดับโรงเรียน การบริหารโรงเรียนระดับชาติอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลกลาง (Federal Government) การศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการเพียงกระทรวงเดียว ยกเว้นการศึกษาที่มีลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบ (Non – formal Education) จะมีกรมจากกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ เช่น กรมแรงงาน กรมเกษตร เป็นต้น
ระบบการจัดการศึกษาของมาเลเซีย (National Education System) เป็นระบบ 6 : 3: 2 คือระบบการศึกษาของมาเลเซียจัดอยู่ในระดับที่มีมาตรฐานสูงตามแบบของประเทศอังกฤษ สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน ระบบการเรียน การสอนแบบ Twinning Program เป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นการร่วมมือกับสถาบันในประเทศ อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนนาดา สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ
– ระดับประถมศึกษาหลักสูตร 6 ปีการศึกษา
– ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หลักสูตร 3 ปีการศึกษา
– ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตร 2 ปีการศึกษา
– ระดับเตรียมอุดมศึกษา หลักสูตร 1 หรือ 2 ปีการศึกษา
– ระดับอุดมศึกษา หลักสูตรเฉลี่ยประมาณ 3 ปีครึ่ง ถึง 4 ปีการศึกษา
การแบ่งระดับการศึกษา
ระดับการศึกษาของประเทศมาเลเซียแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 5 ระดับดังนี้
1. การเตรียมความพร้อม ( Pre – School Education) คือการศึกษาระดับอนุบาล (Kindergarten) โดยมาเลเซียจะให้เด็กเรียนในระดับนี้ตอนอายุ 4 ปี
2. ประถมศึกษา (Primary Education) เด็กทุกคนจะต้องเริ่มเรียนในระดับนี้เมื่ออายุครบ 6 ปี (โดยให้เริ่มนับจากวันที่ 1 มกราคม ของปีการศึกษาอื่น ๆ) ซึ่งจะใช้เวลาเรียน 6 ปี เหมือนกับประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของประเทศไทยโรงเรียนประถมศึกษาในมาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1.) National Primary School จะใช้ภาษามาเลเซียในการสอน
(2.) Vermacular School จะใช้ภาษาจีน หรือทมิฬในการสอน
เมื่อเด็ก ๆ เรียนจบในระดับ Primary Education เด็กทุกคนต้องผ่านการสอบข้อสอบระดับชาติ (Ujian Pencapain Sekolah Rendah:UPSR) จึงจะขึ้นไปเรียนต่อระดับ Secondary Education ได้
3. มัธยมศึกษา (Secondary Education) เป็นการศึกษาต่อเนื่องจากระดับประถมศึกษามีระยะเวลาเรียน 5 ปี หากเป็นโรงเรียนรัฐบาลจะสอนโดยใช้ภาษามาเลเซีย ซึ่งการศึกษาระดับนี้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระดับ คือ
(1.) Lower Secondary (Form 1 – 3 )
(2.) Upper Secondary (Form 4 – 5)
โรงเรียนที่เปิดสอนในระดับ Upper Secondary มี 3 สาขาคือ
– เน้นด้านวิชาการ (Art & Science)
– เน้นด้านเทคนิค
– เน้นด้านวิชาชีพ
นักเรียนที่เลือกเรียนสายวิชาการและเทคนิคเมื่อจบแล้วจะต้องสอบผ่านข้อสอบของรัฐ (Sijit Pelajaran Malaysia: SPM) และสายวิชาชีพคือ (Sijit Pelajaran Malaysia Vokasional:SPMV) หากสำเร็จการศึกษาระดับนี้ วุฒิที่ไดจะเทียบเท่ากับ GCSE “ O” Levels เมื่อจบการศึกษาระดับนี้ สามารถเลือกว่าจะเรียนต่อในสายวิชาชีพ (Certificate หรือ Diploma) หรือ เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา (Higher Education)
4. เตรียมอุดม (Post – Secondary or Pre – University Education) หากเลือกที่จะเรียนต่อในสายอุดมศึกษาจะต้องเข้ารับการศึกษาในระดับนี้ก่อนถึงจะสามารถก้าวต่อไปเรียนในระดับปริญญาตรีได้ การรับนักศึกษาเข้าเรียนในระดับนี้ จะดูสาขาที่เลือกตอนเรียนในระดับ Upper secondary และผลการเรียน SPM/SPMU เป็นหลัก และจะคัดเฉพาะเด็กที่ผ่านเกณฑ์เข้าศึกษาเท่านั้น การศึกษาในระดับนี้ใช้เวลา 1 – 2 ปี มี 2 เส้นทาง คือ Sixth Form และ Matriculation การเรียนในเส้นทาง Sixth Form จะมี 3 สาขา คือ Arts, Science และ Technical ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องสอบผ่านข้อสอบของรัฐ คือ STPM (Sijit Tinggi Perselolaham Malaysia) โดยจะได้วุฒิเทียบเท่า GCE “A” Level ส่วน Matriculation คือการสมัครเรียนตรงกับทางสถาบัน ซึ่งหลังจากเรียนจบจะต้องสอบให้ผ่านถึงจะสามารถเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีได้ ส่วนโรงเรียนเอกชนที่สอนภาษาจีนนั้น ระบบการเรียนนั้นจะแตกต่างกับโรงเรียนรัฐบาล ในช่วงของระยะเวลาเรียนที่ต้องเรียนเป็นเวลา 6 ปี และจะต้องเข้ารับการทดสอบที่เรียกว่า The Unified Examination Certificate (UEC) ซึ่งจัดการโดยสมาคมครูและคณะกรรมการโรงเรียน
5. อุดมศึกษา (Tertiary or Higher Education) การศึกษาในระดับนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ Ministry of Higher Education โดยหลักสูตรที่อยู่ในระดับนี้ประกอบด้วยหลักสูตร Certificate หลักสูตร Diploma หลักสูตร First Degree (Undergraduate Degree หรือ ปริญญาตรี) และ Higher Degree (Professional Degree หรือระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก)
เส้นทางการศึกษา
ประเภทของสถานศึกษา แบ่งตามหน้าที่ 3 ประเภท ดังนี้
1. สถานศึกษาของรัฐบาล (Government Education Institutions)
2. สถานศึกษาในอุปถัมภ์ของรัฐบาล (Government – aided Educational Institutions)
3. สถานศึกษาเอกชน (Private Educational Institutions)
ภาคการศึกษาของมาเลเซีย
ภาคการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 เทอม ดังนี้
เทอม 1 เริ่มต้นในเดือนมกราคม จนถึง มิถุนายน
เทอม 2 เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม จนถึง ธันวาคม
ทำไมถึงเลือกเรียนที่มาเลเซีย
ประเทศมาเลเซีย มีความหลากหลายและมั่นคงทางวัฒนธรรมและผู้คน มีค่าเล่าเรียนที่ไม่แพง ค่าครองชีพถูก ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้นักศึกษานานาชาติให้ความสนใจกับการเรียนต่อมาเลเซีย และมาเลเซียยังได้รับการขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มอบโอกาสทางด้านการศึกษามากมาย และที่สำคัญเมืองหลวง กัวลาลัมเปอร์ ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าที่ทันสมัยอีกด้วย
ประเทศมาเลเซียกำลังนับถอยหลังจากประเทศกำลังพัฒนาสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยเริ่มนับถอยหลังกันตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมาโดยปี 2021 จะประกาศเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มาเลเซียเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพใกล้เคียงกับเมืองไทยซึ่งค่าใช้จ่ายในการเรียน ค่าอาหาร และที่พัก ถูกกว่าที่จะเรียนสิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกา เป็นต้น
การเดินทางที่ง่าย สะดวก เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีชายแดนติดต่ออยู่กับประเทศไทย สามารถเลือกเดินทางด้วยทางรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน นอกจากนี้การศึกษาที่มาเลเซีย นักเรียนยังสามารถมีความรู้ด้านภาษา 2 – 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และ ภาษามลายู อีกด้วย