นักเรียนไทย กับ ความนิยมไปเรียนต่อประเทศจีน
หลายปีต่อเนื่องที่ผู้เขียนมีโอกาสแนะแนวการศึกษา สมัครเรียน ขอวีซ่า และติดตามประสานงานระหว่างเรียน แก่นักเรียนไทยที่ศึกษาต่อประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และ มาเลเซีย เป็นส่วนใหญ่ มักจะได้รับการสอบถามจากนักเรียน ผู้ปกครองบ่อยมากเกี่ยวกับการศึกษาต่อยังประเทศจีน โดยเฉพาะนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา (High School) จากมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพราะนักเรียนกลุ่มนี้มีทักษะทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มากพอสมควรแล้ว จากการได้ใช้ชีวิตใน มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ เป็นระยะเวลา 3-5 ปี จึงมีประเทศเป้าหมายปลายทางของการศึกษาต่อที่ประเทศจีน
จำนวนนักศึกษาต่างชาติในประเทศจีน
ประเทศจีนมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และ สังคม ส่งผลให้นักศึกษาไทย และนักศึกษาต่างชาติในภาพรวมเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศจีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากการสำรวจของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ พบว่าตั้งแต่ในปี ค.ศ.2013-2020 นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี กล่าวคือ ในปี ค.ศ.2013 มีจำนวน 328,000 คน และในปี ค.ศ.2019 เพิ่มขึ้นเป็น 492,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 22 รองลงมาได้แก่ประเทศไทย ร้อยละ 13 ปากีสถาน ร้อยละ 12 อินเดีย ร้อยละ 10 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 9
รัสเซีย ร้อยละ 9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 7 ลาว ร้อยละ 7 ญี่ปุ่น ร้อยละ 6 และประเทศ คาซัคสถาน ร้อยละ 5 ตามลำดับ และ ข้อมูลจาก กระทรวงศึกษาธิการของจีน พบว่า ใน ปี ค.ศ.2018 มีนักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้ามาเรียนในประเทศจีนทั้งหมด 492,185 คน จาก 196 ประเทศในจำนวนนี้มีนักศึกษาไทยมากเป็นอันดับที่ 2
เหตุผลที่ควรเรียนต่อประเทศจีน
ประเทศจีนได้รับความนิยมมากทั้งการเดินทางท่องเที่ยวและการศึกษา มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีประชากรมากที่สุดในโลก การที่มีนักศึกษาต่างชาติจากทั่วโลกมาศึกษาที่จีนทำให้นักศึกษามีเครือข่ายเพื่อนต่างชาติ เปิดโลกกว้างทางวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรมของจีนและวัฒนธรรมอื่นๆทั่วโลก เหตุผลที่มักจะถูกใช้เป็นข้อมูลการตัดสินใจเลือกไปเรียนต่อจีนพอจะสรุปได้ดังนี้
1.การพัฒนาภาษาจีน การใช้ชีวิตเรียนต่อในประเทศจีน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้ใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวัน ช่วยให้สามารถสื่อสารภาษาจีนได้รวดเร็วกว่าการเรียนที่ไทย ความสำคัญของภาษาจีนคือเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก นักธุรกิจจีนมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย และประเทศอื่นๆทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ผู้ที่มีทักษะการสื่อสารเป็นภาษาจีนได้ ถือเป็นโอกาสดีเพราะความต้องการขอตลาดแรงงานสูงมาก
2.คุณภาพการศึกษา รัฐบาลจีนได้พัฒนาระบบการศึกษาจนติดอันดับโลก (Top University in China: QS World Ranking 2022) ติดอัน Top 50 มหาวิทยาลัยโลกถึง 5 อันดับ ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) อันดับที่ 17 มหาวิทยาลัย ปักกิ่ง (Peking University) อันดับที่ 18 มหาวิทยาลัยฟูดาน (Fudan University) อันดับที่ 31 มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) อันดับที่ 45 และ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shianghai Jiao Tong University) อันดับที่ 50
3.ค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าเรียน ค่าครองชีพ การเดินทาง บริการขนส่งมวลชน ในประเทศจีนถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
4.โอกาสการเข้าสู่ตำแหน่งงาน ผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศจีน ที่สามารถพูดภาษาจีนได้ รวมทั้งเข้าใจในวัฒนธรรมของจีน มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งงาน ทำงานในบริษัทของจีน มากขึ้น ซึ่งนักธุรกิจจีนมีการลงทุนทำธุรกิจ ในประเทศไทย และ ประเทศอื่นๆทั่วโลก ความต้องการบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูง
5.การได้รับประสบการณ์ ด้านต่างๆโดยตรง เช่น เช่นด้านภาษาและวัฒนธรรมของจีน และของชาติอื่นๆ ได้เรียนรู้จากการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ ที่มาศึกษาในประเทศจีน
การศึกษาในประเทศจีน
กระทรวงศึกษาธิการของจีนเป็นผู้กำหนด ควบคุม ดูแลหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยในประทศจีนเกือบทุกแห่งเป็นของรัฐบาล จึงได้รับรองจาก ก.พ.
การจัดการศึกษาของจีน 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 เทอม เริ่มเทอมแรกเดือนกันยายน เทอมสองเดือนมีนาคม (ระบบการศึกษาประเทศจีน คลิก https://www.sjworldedu.com/en/misc/china-education-system/ )
หลักสูตรการศึกษาของประเทศจีนเปิดสอนทุกระดับ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษาผู้ใหญ่ ในระดับมหาวิทยาลัยมี คณะ และสาขาวิชาที่หลากหลาย ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศจีนดึงดูดความสนใจนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศจีนแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน ในการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันการศึกษาในประเทศจีน บรรยายด้วยภาษาจีน และ ภาษาอังกฤษ รายละเอียดดังนี้
1.บรรยายด้วยภาษาจีน (Chinese taught) สถาบันการศึกษาที่บรรยายด้วยภาษาจีน ก็จะกำหนดเงื่อนไขการรับสมัครต้องมีผลการวัดระดับความสามารถภาษาจีนสำหรับผู้ที่ไม่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่ คือผลสอบ HSK ระดับต่างๆ เช่น HSK= 5+ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ สาขา ที่สมัครของแต่ละสถาบันการศึกษากำหนด
2.บรรยายด้วยภาษาอังกฤษ (English taught) สถาบันการศึกษาที่บรรยายด้วยภาษาอังกฤษ ก็จะกำหนดเงื่อนไขการรับสมัครต้องมีผลการวัดระดับความสามารถภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ คือผลสอบ IELTS (International English Language Testing System) ระดับต่างๆ เช่น IELTS = 6.5 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ สาขา ที่สมัครของแต่ละสถาบันการศึกษากำหนด
โครงการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สำคัญของจีน
มาทำความรู้จัก จักมหาลัยจีน Project 211 และ Project 985 คืออะไร
1.โครงการมหาวิทยาลัย ตาม Project 211 ระยะแรกของการดำเนินการ ในปี ค.ศ.1996-2000 ประเทศจีนเตรียมตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2001ที่มาของชื่อโครงการก็คือ 21คือ ศตวรรษที่ 21 และ 1 คือเดือน มกราคม โครงการมหาวิทยาลัย 211 ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมากกว่า 100 แห่ง แต่มี 112 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการบันทึกรายชื่อเข้ามาอยู่ในโครงการ 211 ปัจจุบันภาพรวมทั้งประเทศจีนมีมหาวิทยาลัยจำนวนประมาณ 3,000 กว่าแห่ง มีเพียง 116 แห่งเท่านั้นที่ถูกจัดมาเป็นมหาวิทยาลัยโครงการ 211 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศของจีน
2.โครงการมหาวิทยาลัยตาม Project 985 โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 ประเทศจีนต้องการจะสร้างมหาวิทยาลัยชั้นนำมาตรฐานสากล ก็ได้จัดทำโครงการ 958 ขึ้น ที่มาของชื่อโครงการก็คือ นำเลขสองตัวท้ายของปี ค.ศ.1998 คือ 98 ตามด้วยเดือนที่ 5 คือเดือน พฤษภาคม เป็นชื่อ Project 985 ภาพรวมทั้งประเทศจีนมีมหาวิทยาลัยในโครงการนี้เพียง 39 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง Rating สูงๆ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับสากล ทั้งนั้น มหาวิทยาลัยตาม Project 211 และ Project 985 ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่บางคนอาจมองว่ามหาวิทยาลัยใน Project 985 จะมีศักยภาพเหนือกว่า มหาวิทยาลัยใน Project 211 โดยที่มหาวิทยาลัยตาม Project 985 จะเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ใน Project 211 แต่มหาวิทยาลัยตาม Project 211 ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยตาม Project 985
ใน ปี ค.ศ.2019 กระทรวงศึกษาธิการจีนได้ประกาศโครงการใหม่ โดยการรวมเอามหาวิทยาลัยตาม Project 211 กับ Project 985 และ เพิ่มมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้อยู่ใน Project 211 อีก 25 แห่ง มารวมไว้ด้วยกัน แล้วแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มหาวิทยาลัยชั้นนำ และ มหาวิทยาลัยเฉพาะทางชั้นนำ
- มหาวิทยาลัยชั้นนำจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการเรียนการสอนสูงเป็นที่ยอมรับของสังคมสูงมาก รวมทั้งมีแผนกวิชาระดับสูงค่อนข้างมาก มหาวิทยาลัยชั้นนำมีจำนวนทั้งหมด 42 แห่งด้วยกัน จะประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยตาม Project 985 จำนวน 39 แห่ง และมหาวิทยาลัยตาม Project 211 จำนวน 3 แห่ง
- มหาวิทยาลัยเฉพาะทางชั้นนำ หมายถึงมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนแผนก สาขาวิชาระดับสูง หรือ เป็นสาขาวิชาที่มีความต้องการสูงของประเทศจีน