คุณภาพการศึกษาไทยเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ในช่วงเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมาผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านการศึกษาคงจะได้พบหัวข้อข่าวในสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือ แม้แต่ในสังคมออนไลน์ (Social media) พาดหัวข่าว
“ ช็อก WEF จัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน จาตุรนต์ เต้น สั่งสอบผลการจัด”
ระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมาผู้เขียนเองได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน ระบบการศึกษาและ เข้าเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และ อินเดีย จึงเห็นความแตกต่างมากมายระหว่างประเทศดังกล่าวกับประเทศไทย ผมจึงไม่แปลกใจ หรือ ตกใจ กับการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในกลุ่มอาเซียน ในทางกลับกันผมคิดว่าผลของการประเมินครั้งนี้ น่าจะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศไทยได้คิด ทบทวน แล้วพัฒนาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องเสียที เพื่ออนาคตของลูกหลานและประเทศชาติ
หลายท่านคงมีข้อสงสัยอยู่บ้างว่า WEF คือใครมีความสำคัญอย่างไร ผมจึงขออธิบายขยายความในเบื้องต้นว่า WEF ย่อมาจาก World Economic Forum เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ซึ่งจะจัดให้มีการประชุม “เวทีเศรษฐกิจโลก” เป็นประจำทุกปี และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ซึ่งผลที่ได้จากการประชุมจะมีส่วนสำคัญในการเสนอแนะทิศทางการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งรูปแบบของการประชุมจะมีหลายระดับ ตั้งแต่การประชุมประจำปี ระดับผู้นำ จนถึงการประชุมกลุ่มย่อยระดับภูมิภาค มีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศประกอบด้วย
1. บรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)
2. กัมพูชา (Cambodia)
3. อินโดนีเซีย (Indonesia)
4. ลาว (Laos)
5. มาเลเซีย (Malaysia)
6. พม่า (Myanmar)
7. ฟิลิปปินส์ (Philippines)
8. สิงคโปร์ (Singapore)
9. เวียดนาม (Vietnam)
10. ไทย (Thailand)
ในภาพรวมแล้ว WEF จะมีการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางเศรษฐกิจซึ่งจะประกอบด้วยตัวชี้วัดแต่ละด้าน หรือเรียกว่า เสาหลัก (Pillar) มีทั้งหมด 12 เสาหลัก ในส่วนของการศึกษาเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่อยู่ในเสาหลักสุขภาพและการประถมศึกษา (pillar 4: Health and Primary Education) และเสาหลักการอุดมศึกษาและการฝึกอบรม (Pillar 5: Higher Education and Training) สำหรับตัวชี้วัดด้านอื่น ๆ อีก 10 ด้าน ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้
ด้านการศึกษาเขากำหนดตัวชี้วัดกี่ตัว อะไรบ้าง และผลการประเมิน เป็นอย่างไร มาติดตามกันต่อดังนี้ตัวชี้วัดด้านการศึกษาจำนวน 8 ตัว ประกอบด้วย
1. คุณภาพการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา (Quality of Primary Education)
2. อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาสุทธิ ( Primary Education Enrollment Rate)
3. อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาสุทธิ (Secondary Education Enrollment Rate)
4. อัตราการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาสุทธิ (Tertiary Education Enrollment Rate)
5. คุณภาพของระบบการศึกษา (Quality of the Education System)
6. คุณภาพของโรงเรียนที่สอนคณิต – วิทย์ (Quality of Math And Science Education)
7. คุณภาพของโรงเรียนที่สอนการบริหารจัดการ (Quality of Management Schools)
8. การเข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ตในโรงเรียน (Internet Access in Schools) รวมไปถึงการวิจัยเฉพาะทางของท้องถิ่นและ การให้บริการฝึกอบรม (Local Availability of Specialized Research and Training Services) และขอบเขตการฝึกอบรมพนักงาน (Extent of staff Training)
ถึงตอนนี้มาดูกันว่า WEF เขาจัดอันดับการศึกษาไทยปี 2556 อยู่ในระดับไหนบ้าง จากข้อมูลการประชุมของ World Economic Forum : The Global Competitiveness Report 2012 – 2013 ซึ่งเป็นการประชุม “เวทีเศรษฐกิจโลก” รายละเอียดดังนี้
รูปที่1 WEF จัดอันดับการศึกษาไทยในปี 2556
ที่มา: http://education.uasean.com
ที่มา : รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3
ที่มา : รายการข่าวข้น คนเนชั่น ช่อง Nation Channel
คุณภาพการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จากการจัดอันดับของ World Economic Forum (WEF) 2012 – 2013 ผลปรากฏว่า คุณภาพการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 8 อันดับ ส่วนคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมและอุดมศึกษาไทยอยู่ในอันดับ 8 อันดับสุดท้าย รายละเอียดดังนี้
ตารางแสดงคุณภาพการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
จากการจัดอันดับของ World Economic Forum (WEF) 2012-2013
ที่มา : http://km-cml.net
ข้อมูลการประชุมของ WEF นี้ นาย ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการได้นำมาเปิดเผย ซึ่งเป็นประโยชน์มากและนาย จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสนใจและมีการสั่งการให้มีการวิเคราะห์ผลการจัดอันดับดังกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ ข้อสังเกตตอนหนึ่งว่า “ผลการจัดอันดับได้สรุปว่า เงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการมีระบบการศึกษาที่ดี และ การที่ครู อาจารย์มีเงินเดือนสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางการสอนสูงตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราผลักดันเรื่องเงินเดือนครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ต้องเร่งรัดครูในเรื่องประสิทธิภาพในการสอนควบคู่กันไปด้วย”
ในส่วนของผู้เขียนเองก็มีข้อสังเกตบางประเด็น กล่าวคือ นักเรียนไทยต้องพึ่งพา และ ใช้เวลาในการเรียนสูงมาก เพราะไม่เพียงแต่เรียนในชั้นเรียนตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียวแต่ต้องพึ่งพาการเรียนพิเศษ ตามโรงเรียนกวดวิชา หรือจากการสอนเสริมของอาจารย์ผู้สอนโดยตรง จนทำให้ธุรกิจการสอนพิเศษ โรงเรียนกวดวิชา เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้มหาศาล ในขณะที่นักเรียนในต่างประเทศเขาจะใช้เวลาวันหยุดในการทำกิจกรรมนันทนาการ เล่นกีฬา อยู่ตามสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส ฟุตบอล แต่ผลการจัดอันดับ คุณภาพการศึกษาของไทยกลับอยู่ตำแหน่งสุดท้ายในกลุ่มอาเซียนมันเกิดอะไรนั้น ต้องช่วยคิดและร่วมมือกันแก้ไข อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนมีข้อสังเกตก็คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อยมาก ๆ ในช่วงปี 2554 – 2556 พบว่ามีการเปลี่ยนรัฐมนตรีดังนี้
ที่มา : http://th.wikipedia.org
รัฐมนตรีแต่ละท่านที่เข้ามารับผิดชอบบริหารต่างก็มีบุคลิกภาพ ความถนัด และ นโยบาย ที่แตกต่าง จึงมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ตามตัวบุคคล ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงานของข้าราชการประจำ และแน่นอนมันก็จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาด้วย
ผู้เขียน
สมนึก ชูสุวรรณ
ค.อ.บ. พระจอมเกล้าลาดกระบัง
น.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วท.ม. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
แหล่งข้อมูล
http://education.unsean.com
http://www.youtube.com
http://km-cm1.net
http://guru.google.co.th
http://th.wikipedia.org
http://www.matichon.co.th
http://secondary22.obec.go.th