เรียน ป.เอก อินเดีย ข้อควรรู้ ควรระวัง ! ก่อนการสมัครเรียน
การเรียนระดับปริญญาเอกในประเทศอินเดียเป็นเป้าหมาย ความใฝ่ฝันและได้รับความนิยมของนักศึกษาไทยจำนวนมาก ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ระยะเวลาการเดินทางจากไทยที่ใกล้กว่าเมื่อเทียบประทศ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เป็นต้น ค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพ ที่ถูกกว่าเมืองไทยจึงเป็นโอกาสที่ดีในการวางแผนการใช้จ่ายที่ง่ายขึ้น ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนในอินเดีย สถาบันระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม ที่หลากหลาย สถาบันการศึกษา และการเรียนการสอนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อย่างไรก็ตามอย่ามองข้ามปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับท่าน บั่นทอนความตั้งใจ ไปไม่ถึงเป้าหมายจากสาเหตุเหล่านี้
ข้อควรรู้ ควรระวัง ก่อนการสมัครเรียน
การเรียน ป.เอก อินเดีย มีข้อควรรู้ ควรระวัง ก่อนการสมัครเรียน ที่ควรให้ความสนใจ ระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพราะมีผู้เป็นนายหน้าไม่ซื่อสัตย์ หลอกลวง ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อของความไม่ซื่อสัตย์ ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อ และที่ไม่ปรากฎเป็นข่าวซึ่งเมื่อถูกหลอกลวงแล้วเก็บเงียบไม่เปิดเผยตัวมีความละอายที่หลงเชื่อ เสียรู้ เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียความรู้สึก ไปแล้ว ดังนั้นก่อนสมัครเรียนควรศึกษาหารายละเอียดอย่างรอบคอบ อย่าหลงเชื่อบรรดานายหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งแฝงตัวอยู่หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติเดียวกันที่คอยมาทำตัวสนิท ชวนให้เชื่อในทางที่ผิด คนภาคเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ที่เลวร้ายกว่านั้นบางรายเป็นเพื่อนร่วมงานกันยังหลอกลวงกันเอง ใครเจอแบบนี้คงเสียความรู้สึกมากๆ
พฤติกรรมการหลอกลวงเป็นอย่างไร
พฤติกรรมการหลอกลวง ชวนเชื่อให้หลงผิด พอจะสรุปได้ดังนี้
1.การโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อต่างๆ เช่น
- เช่าพื้นที่โฆษณาเล็กๆประมาณ 2 ตารางนิ้วในหนังสือพิมพ์รายวัน
- โพสข้อความฝากไว้ในเว็ปกระทู้ต่างๆ
- แชร์ข้อความไว้ใน Fanpage
การโฆษณามักจะบอกเฉพาะ ชื่อบุคคล และ เบอร์โทร ไม่เปิดเผยสถานที่ติดต่อหรือที่ตั้งสำนักงานหรือรายละเอียดการจดทะเบียนนิติบุคคลใดๆ และเสนอการให้บริการที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเรียน ป.เอกจบง่าย มีการช่วยเหลือ ทำแทนได้ทุกขั้นตอน โดยไม่ต้องไปอยู่ที่อินเดียเลย สมัครแล้วรอสอบจบอย่างเดียวเลย
2.สร้างเครือข่ายนายหน้าขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ชวนเชื่อ บอกต่อ คนใกล้ชิด กลุ่มเป้าหมายให้หลงผิด เข้าสู่กระบวนการมีการส่งต่องานกันเป็นกระบวนการตั้งแต่ในไทยไปจนถึงขั้นตอนในอินเดีย
3.กิจกรรมการตลาด ไม่ปรากฏว่ามีการเข้าร่วมกิจกรรมการแนะแนวการศึกษาต่างประเทศที่หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น งานนิทรรศการการศึกษาต่างประเทศ งานสัปดาห์วิชาการของแต่ละสถาบันการศึกษา งานตลาดนัดอุดมศึกษา เป็นต้น
4.การเรียกเก็บค่าบริการ มักจะเรียกเก็บแบบเหมาจ่ายอาจจะจ่ายงวดเดียวหรือแบ่งจ่ายเป็นงวด ผู้หลงผิดไม่ทราบเลยว่าค่าเรียนค่าธรรมเนียมที่จ่ายจริงให้แก่มหาวิทยาลัยจำนวนเท่าไร และมีการจ่ายให้มหาวิทยาลัยจริงไหมเพราะบรรดานายหน้าดังกล่าวจะไม่แสดงหลักฐาน ใบเสร็จของมหาวิทยาลัย โดยอ้างว่ามหาวิทยาลัยจะออกให้ตอนสอบจบแล้ว ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ตลกมาก
ราคาค่าบริการที่เรียกเก็บเมื่อประมาณปี 2013-2015 เขาจะเรียกเก็บคนละ 380,000 – 600,000บาท
พิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจ และ สังคมของผู้สมัคร ความรีบร้อนที่จะได้วุฒิ ป.เอก ด่วนขนาดไหน รวมทั้งถ้าไม่มีทักษะภาษาอังกฤษด้วยแล้วยิ่งจ่ายแพงไปอีก ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในขอวีซ่า การเดินทางไปอินเดีย ค่าทำเล่ม Thesis และ ค่าเอกสารตอนขอรับวุฒิการศึกษา
5.การปกปิดข้อมูลในขั้นตอนสำคัญของการศึกษา ป.เอก อินเดีย ตัวอย่าง เช่น ไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียน Course Work, การทำวิจัย การตรวจการคัดลอกงานวิจัย (Plagiarism Check) การนำเสนอและการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ, การขอวีซ่าเพื่อการวิจัย (Research Visa) รายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่าย และค่าบริการที่เกี่ยวข้อง นักศึกษาบางรายถูกปิดกั้นไม่มีโอกาสได้เจอกับอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิจัย (Research Guide) หากเจอกรณีเช่นนี้ตั้งข้อสังเกตได้เลยว่าไม่มีความสื่อสัตย์ ไม่สุจริต
6.ผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง
6.1 เอกสารการตอบรับที่ได้จากมหาวิทยาลัยฯ ไม่สมบูรณ์ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งนายหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์ ได้เอกสารมาโดยมิชอบ ปลอมแปลงแก้ไข เช่น มีลายเซ็น แต่ไม่มีชื่อ-สกุล ตัวบรรจง ไม่มีตราประทับในเอกสาร เมื่อนำไปประกอบการยื่นขอวีซ่า (Research Visa) ก็จะถูกสถานทูต ปฏิเสธ ไม่รับพิจารณา ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา ป.เอก ที่ถูกต้องได้
6.2 หลอกให้รอขั้นตอนการสอบปากเปล่า (Viva Voce Examination) ทั้งที่ผู้เรียนยังไม่ได้ทำวิจัย หรือเรียน Course Work อ้างว่าจะลดขั้นตอนเหล่านี้มีผู้ดำเนินการแทนขอเพียงให้จ่ายเงินให้ครบตามที่นายหน้าผู้ไม่ซื่อสัตย์เรียกเก็บ หลายคนรอไม่ไหว เพราะระยะเวลาหลายปีไม่มีอะไรคืบหน้า และรู้แล้วว่าถูกหลอก ยอมทิ้งเงินที่หลงเชื่อจ่ายไปหลายแสน แต่ก็มีบางรายที่มีโอกาสได้ไปสอบ Viva Voce พอเป็นพิธี เพราะไม่มีดุษฎีนิพนธ์ที่ทำการวิจัยด้วยตัวเอง และเดินทางไปอินเดียโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว (Tourist Visa) อย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถทำวีซ่าเพื่อการวิจัยได้ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วขอจบ ป.เอก มีการจัดฉากถ่ายรูปหน้าอาคารเรียน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ นายหน้าผู้ไม่ซื่อสัตย์ คงสมคบคิดกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯบางคนตามที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อในประเทศอินเดีย
6.3 เมื่อได้รับวุฒิการศึกษา ป.เอก จากกรณีดังกล่าวนี้ เมื่อยื่นเอกสารเทียบวุฒิในเมืองไทย
เคยปรากฏเป็นข่าวการประชุมกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) เมื่อปี 2561 พบว่า ผู้ยื่นเอกสารเทียบวุฒิเป็นผู้อ้างว่าจบการศึกษา ป.เอก จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอินเดีย (ขอสงวนนาม) จำนวน 40 ราย ซี่งเข้าศึกษาในช่วงปี ค.ศ.1995-2015 ผลการพิจารณาสรุปได้ว่า คุณภาพของวิทยานิพนธ์ ของผู้ยื่นคำร้องทั้ง 40 ราย ทั้งประเด็นปรัชญาและวัตถุประสงค์ ของการศึกษาระดับปริญญาเอก การเขียนวิทยานิพนธ์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก การใช้ภาษาอังกฤษในการทำวิทยานิพนธ์ไม่เป็นไปตามหลักไวยากรณ์ ไม่สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เทียบได้ต่ำกว่าคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการการอุดมศึกษามอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีหนังสือแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยดังกล่าวและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษาในสาธารณรัฐอินเดีย
ดังนั้น สกอ.จะเข้มงวดในการตรวจสอบวุฒิ ปริญญาเอก จากต่างประเทศมากขึ้น เช่นบรรดาอาจารย์ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศต้องหาหลักฐานมายืนยันว่า ตนได้ไปเรียนปริญญาเอกมาจริง และเป็นจริงทั้งปริญญา และความรู้ และต้องยื่นเรื่องต่อ สกอ.เพื่อขอให้รับรองวุฒิทางการศึกษา ป.เอก ของตน หากไม่ดำเนินการก็จะไม่ได้รับการรับรองวุฒิที่จบมาส่งผลกระทบให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรที่เปิดสอนอยู่ได้ ในส่วนรัฐบาลอินเดียก็เข้มงวด ในการตรวจสอบ ป้องกันปัญหาปริญญาที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง หรือ ปลอม แต่ก็ยังมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของนายหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์อยู่บ่อยครั้ง
บทความ ข้อควรรู้ ควรระวัง ก่อนการสมัครเรียน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ท่านตกเป็นเหยื่อการถูกหลอกลวงรายต่อไป และป้องปรามพฤติกรรมหลอกลวงจากนายหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ให้สร้างความเสียหายต่อผู้ที่สนใจเรียน ป.เอก อินเดีย หรือต่างประเทศอีกต่อไป
ผู้เขียน
สมนึก ชูสุวรรณ
ค.อ.บ. พระจอมเกล้าลาดกระบัง
น.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วท.ม.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
Research Scholar, Department of Management Science
BAMU. Aurangabad, India